กิจกรรมโรงเรียนใหญ่ รอยเท้าเล็ก (Low Carbon School Network)
กิจกรรมต่อเนื่องของโครงการรณรงค์ Earth Hour 2012
ระยะเวลา เดือนมีนาคม2555 – เดือนมีนาคม 2556
แนวคิดหลัก กิจกรรมโรงเรียนใหญ่ รอยเท้าเล็ก: โครงการโรงเรียนใหญ่ รอยเท้าเล็ก เป็นโครงการที่มุ่งหวังถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของนักเรียนที่ร่วมโครงการทุกคน ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นการลดรอยเท้าเชิงนิเวศ (Ecological Footprint) ที่แต่ละคนได้กระทำต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะนักเรียนที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร อันเป็นเมืองใหญ่ที่มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ และส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มากที่สุดพื้นที่หนึ่ง
โครงการนี้มุ่งหวังถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงบุคคลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นการเริ่มต้นที่ตนเอง สามารถกระทำได้ทันที และปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดผลกระทบต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับโลก และหากนักเรียนคนๆหนึ่งสามารถกระทำได้ เมื่อรวมกับเพื่อนนักเรียนในห้อง ต่อยอดไปถึงเพื่อนนักเรียนทั้งระดับชั้น จะสามารถเปลี่ยนจากพลังเล็กๆ ของคนคนหนึ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ขยายใหญ่ขึ้น เป็นระดับโรงเรียน ระดับเขต นำไปสู่การขยายผลต่อเนื่องไปถึงระดับจังหวัด และระดับประเทศในที่สุด
ความคิดรวบยอดด้านหลักสูตรของโครงการ: โครงการโรงเรียนใหญ่ รอยเท้าเล็ก เป็นโครงการต่อเนื่องจากกิจกรรม Earth Hour 2012 ที่ใช้กระบวนการและวัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นกลยุทธ์หลักในการดำเนินกิจกรรม ตั้งแต่กระบวนการสร้างความตระหนัก (Awareness) การให้ความรู้ (Knowledge) เพื่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติ (Attitude) นักเรียนเป้าหมายได้รับการพัฒนาทักษะ (Skill) และนำไปสู่การมีส่วนร่วม (Participation) ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ ลดรอยเท้านิเวศในที่สุด
อย่างไรก็ตามในการสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโครงการ มีพื้นฐานการดำเนินการจากการเรียนรู้แบบลักษณะการทำโครงการ (Project Base Learning) มุ่งหวังให้นักเรียนเป้าหมายได้มีโอกาสในการสำรวจ ค้นหา และวิเคราะห์ปัญหา ถึงผลต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมจนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่มีมากยิ่งขึ้น จนเกินความสามารถหรือความพอดีที่โลกจะรองรับได้ นักเรียนได้ช่วยกัน พิจารณาทางเลือกในสิ่งที่ตนเองสามารถช่วยกันหรือปฏิบัติได้จริงด้วยตนเอง จนนำไปสู่ขั้นการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ต่อเนื่อง โดยสามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดโครงการ จะสอดคล้องกับหลักคิดและแนวปฏิบัติของ SMART Energy ดังนี้
- Renewable Energy :หน่วยการเรียนรู้ พลังงานทางเลือก
- Energy Efficiency : หน่วยการเรียนรู้ ประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน
- Shifting the Energy Paradigm :หน่วยการเรียนรู้ การปรับแนวคิดด้านการใช้พลังงาน
- Carbon Capture and Storage :หน่วยการเรียนรู้ ปฏิบัติการลดคาร์บอน
เป้าหมาย เพื่อเป็นแนวทางสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา
วัตถุประสงค์
- เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจปัญหาภาวะโลกร้อน รวมถึงเรียนรู้วิธีการปรับตัวเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยการเรียนการสอนในการใช้พลังงานอย่างสร้างสรรค์ พอเพียง (Smart Energy) ให้กับเยาวชน
- ผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวทางด้านการใช้พลังงานอย่างสร้างสรรค์ พอเพียง (Smart Energy) เพื่อนำไปสู่การเป็นโรงเรียนคาร์บอนต่ำ
- สร้างเครือข่ายโรงเรียนคาร์บอนต่ำ และขยายสู่ชุมชนใกล้เคียง
- รณรงค์โครงการปิดไฟให้โลกพัก พร้อมกับแบ่งปันเรื่องราวผ่านทางสังคมออนไลน์ภายใต้หัวข้อ “I Will If You Will”
- เปิดโอกาสให้บริษัทธุรกิจได้สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยสนับสนุนนักเรียนและเยาวชนในหลักสูตรบูรณการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
กลุ่มเป้าหมาย
โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน16โรงเรียน(ประถมจำนวน 10 แห่ง มัธยมศึกษา 6 แห่ง) จาก 6 เขต ที่กรุงเทพมหานครจะดำเนินโครงการนำร่องด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- นักเรียนในโรงเรียนเป้าหมายมีความรู้ ความเข้าใจปัญหาภาวะโลกร้อน รวมถึงเรียนรู้วิธีการปรับตัวเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Smart Energy)
- นักเรียนเป้าหมายมีพฤติกรรมเชิงบวกในการการใช้พลังงานอย่างสร้างสรรค์ พอเพียง(Smart Energy) จนนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำในโรงเรียน
- เครือข่ายโรงเรียนคาร์บอนต่ำและขยายสู่ชุมชนใกล้เคียง
- ชุมชนคนเมืองมีความตระหนักและเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง และลงมือปฏิบัติจริงพร้อมกันทั่วโลก
หน่วยงานที่รับผิดชอบ มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (FEED)
องค์กรที่ปรึกษา WWF ประเทศไทย
![]() |
![]() |
![]() |